3 มกราคม 2559

บทบาท HUBBA ...... Ecosystem Builder สำหรับ Startup ไทย

ก่อนปิดปี 2558 ได้มีโอกาสสัมภาษณ์คุณ​เอม อมฤต เจริญพันธ์ Co-founder และ Co-CEO ของ HUBBA Thailand ถึงเป้าหมายและของ HUBBA ต่อวงการ startup ไทย 

คุณ​เอม อมฤต เจริญพันธ์ Co-founder และ Co-CEO ของ HUBBA Thailand
ขอบคุณภาพจาก Techsauce

- แนวคิดและจุดกำเนิดของ Hubba 

แนวคิดของ HUBBA เกิดจากการที่ผมและพี่ชาย (ชาล เจริญพันธ์ ) ผู้ร่วมก่อตั้งเราเจอปัญหาส่วนตัวในการเป็นผู้ประกอบการตั้งแต่ก่อนที่จะเริ่มทำ HUBBA ซึ่งเป็นปัญหา universal ที่ทุกคนในเมืองไทยมี แต่ไม่มีใครแก้ ก็คือ ก่อนที่จะมี co-working space ก่อนที่ทุกคนจะรู้จัก startup VC และการระดมทุน การเป็นผู้ประกอบการก็คือ เราต้องมีเงิน มี connection มีชื่อเสียงหรือมีต้นทุนอะไรบางอย่างแล้วออกไปทำ สร้างทุกอย่างให้เสร็จ และลองออกไปขายดู เจ๊งหรือไม่เจ๊งไม่รู้ 

แต่ช่วงก่อนหน้านี้ช่วงที่เริ่มเปลี่ยนจาก 2G ไป 4G คนเริ่มใช้สมาร์ทโฟน เริ่มใช้เน็ต และแอพฯ เยอะ และมองว่าเป็นธุรกิจของอนาคตแน่ๆ ผมเรียนบัญชี พี่ชายเรียกวิศวะอุตสาหกรรม เป็นสองคนที่มีความฝัน มีความสนใจแต่โค้ดไม่เป็น ไม่รู้จักโปรแกรมเมอร์ ไม่รู้จะจ้างใคร ไม่รู้ว่าจะทำ startup ยังไง เราก็พยายามศึกษาว่าวิธีที่จะเร่ิมเขาทำกันยังไง พยายามอ่านข้อมูลจากสื่อต่างประเทศ แล้วค้นพบว่าข้อมูลเหล่านี้อยู่ในโลกออนไลน์แต่เรายังไม่มั่นใจในตัวเอง ยังไม่รู้ว่าไอเดียเราเวิร์คไหม เราไม่รู้ว่าเราควรจะจ้างนักพัฒนาแบบไหน ใครเก่ง ใครสนใจทำโปรเจคเดียวกันกับเรา แต่ในเมืองนอกทุกคนเวลาเขาอยากทำ startup เขาจะไปอยู่ตาม community ซึ่งอาจจะเป็น conference meetup co-working space แต่ในเมืองไทยตอนนั้นหากไปเสิร์จใน meetup.com แทบจะไม่มีเลยมีงานเกี่ยวกับ startup ช่วงนั้นตรงกับน้ำท่วมด้วยเลยยิ่งไม่มีการจัด event เลยพยายามหา co-working space ในไทย เราทำ research ข้อมูลใน SEA เราพบว่าที่ญี่ปุ่นตอนนั้นมี co-working space 200-300 ที่ ที่สิงคโปร์มีเกือบจะ 10 ที่ตอนนั้น (ตอนผมเปิด HUBBA ที่สิงคโปร์มีเกือบ 20 ที่)​ เลยรู้สึกว่า ถ้าคนที่นั่งทำงานที่ co-working space คือคนที่เป็น startup freelance ที่มีเป้าประสงค์ที่อยากทำธุรกิจของตัวเอง มี passionใกล้เคียงกัน ถ้าเราไปที่นั่น เราคงได้เพื่อนเก่งๆ ได้รับคำปรึกษา แต่พอหาในเมืองไทยไม่มี co-working space เลย เราเลยรู้สึกว่าเรายังไม่รู้หรอกว่าเราจะเริ่ม startup ยังไง แต่เราอยากเจอ community อยากรู้จักคน อยากเรียนรู้เกี่ยวกับวงการ เราเลยคิดสร้าง co-working space และก่อนที่จะมาทำ HUBBA และก่อนคิดจะมาทำ startup ทีมงานเราเจอทุกปัญหา ทั้งโดนโกง โดนเอาเปรียบ ทำธุรกิจแล้วไปไม่รอดเพราะไม่ได้วิเคราะห์ตลาดได้ดีพอ เราเล็งเห็นว่าการเป็นผู้ประกอบการในไทยก่อนหน้ามันไม่ lean ไม่ startup เลย ก็ต้องเล่นจริงเจ็บจริง ล้มแล้วลุกใหม่ แต่จะดีกว่านั้นไหมถ้าเราสามารถเรียนรู้จากรประสบการณ์คนอื่นแล้วไปต่อยอดจากประสบการณ์ของเขา ไม่ต้องล้มในท่าเดิมๆ ในที่เดิมๆ แต่เราไปล้มในปัญหาใหม่ๆ แล้วเรารู้สึกว่าอยากให้มีบรรยากาศอย่างนั้น เลยมองว่าเราสร้าง co-working space เพื่อแก้ตอบสนองและแก้ไขปัญหาของตัวเอง และพยายามจะสร้าง a dream office, a dream community ที่เราอยากเจอคนแบบไหนเราก็อยากจะสร้าง co-working space แบบนั้น 

ปัญหาเรื่อง culture และ environment ของการเป็น entrepreneur ในเมืองไทยไม่ค่อยดี ไม่ค่อยสนับสนุนผู้ประกอบการ และ innovative community ที่จะช่วยสร้างผู้ประกอบการ startup เราหาไม่เจอในเมืองไทย เราก็เลยขออาสาเริ่มดู ซึ่งตอนเกิด HUBBA เกิดพร้อมวงการ startup ในไทย มันประจวบเหมาะพอดี ตอนนั้น builk.com ชนะที่ echelon พี่กระทิง พี่หมู พี่มิหมี thumbsup จัด start it up ที่ HUBBA คนมาเยอะมาก เหมือนทุกอย่างในปีนั้นมันถึง tipping point ในอดีตเราไม่เห็นคนไทยสร้างเทคโนโลยีของตัวเองนัก แต่พอถึงจุดหนึ่ง มีคนที่เริ่มประสบความสำเร็จแล้ว คนไทยมีศักยภาพ ความรู้จาก silicon valley คนไทยเริ่มเข้าถึงได้ง่ายทั้ง online course competition conference แล้วเริ่มมี investor จริงๆ ทั้งโอเปอเรเตอร์ และรายบุคคล ทำให้หลายๆ คน เริ่มมั่นใจ บริษัทไอที software house เริ่มอยากทำโปรดักส์ของตัวเอง น้องๆ คนรุ่นใหม่ที่แต่ก่อนต้องไปทำงานบริษัทซอฟต์แวร์ เขาสามารถที่จะทำธุรกิจของเขาเองได้ จึงมีการเปลี่ยน mindset ของคนในวงการ ตอนนี้เป็น 1,000 ทีมที่มาทำ startup 

- บทบาทของ HUBBA ต่อวงการ startups ไทย 

บทบาทของ HUBBA ว่า co-working space เป็นจุดเริ่มต้นและจุดสำคัญ เราจะมีพื้นที่ใหม่ๆ ในหลายๆ location เพื่อเอื้อต่อการทำงาน แต่เรามองว่า co-working space อย่างเดียวไม่พอ ไม่ useful พอที่จะทำให้ startup ประสบความสำเร็จหรือไม่ล้มเหลวได้ เพราะการมีที่ทำงานที่ดีที่ประหยัดที่ทำให้สร้างทีมและทำงานร่วมกันได้ มันดี แต่ถ้าหาลูกค้าไม่ได้ หานักลงทุนไม่ได้ ไม่มีสื่อ ไม่มีช่องทางการตลาด ไม่มีทีมงานที่มาร่วมงานที่จะทำให้โปรดักส์เสร็จ ไม่มีการออกแบบที่ดี ทุกอย่างต้องเป็นองค์ประกอบที่มารวมกันทำให้เกิด startup ที่ดี เราคุยกับสมาชิกเราในพื้นที่เรา เราพบว่าปัญหามันเยอะ เราจึงพยายามทำตัวให้ไปเติมเต็มในส่วนที่ในวงการยังขาดหายไป บทบาทตอนนี้จะกลายเป็น ecosystem builder คือ พยายามจะสร้าง parties facilites โครงการ กิจกรรต่างๆ ที่มาเติมเต็มให้วงการ startup ในทุกส่วนไอเดีย ทีม เงินลงทุน เราจะเข้าไปเติมเต็มในทุก journey ของ startup เรามอง HUBBA เป็นเหมือนเพื่อนร่วมทาง  คล้ายๆ coach business partner ในการช่วยให้เพื่อนๆ ที่เป็นสมาชิกเราจากที่ไม่มีอะไรเลยจนไปถึงได้รับการลงทุนจนไปถึงการมีกำไร แล้วแต่ว่าเขาอยากเลือกมีกำไร หรืออยากระดมทุน 

ซึ่งบทบาทของการเป็น ecosystem builder เราทำอะไรมาแล้วบ้าง ในฝั่งสื่อและ event เมื่อก่อนยังไม่มีสื่อที่พูดถึง startup มากนัก เราก็ทำ techsauce เรื่องของการสร้างทีมใหม่ๆ คนที่ไม่มีทีมไม่มีไอเดีย เราก็จัด co-founder dating และจัดการแข่งขัน ในอนาคตจะเป็นเรื่องของการศึกษาให้ความรู้มากขึ้น ตอนนี้เราจัด workshop เยอะ เดือนนึงมี 10-15 workshop ที่จัดที่ HUBBA เป็นเรื่องของสันทนาการความรู้ ปีหน้าจะเป็น course ยาวๆ ขึ้น เพื่อสร้างคน สร้าง back-end developer, mobile developer, UX designer, data scientist เป็น course ที่สร้างคนเพื่อที่เขามี skill เพื่อที่เขาจะเริ่มหรือร่วมกับ startup ซึ่ง course เหล่านี้เราจะร่วมกับ partners อาทิ 500 startups Ardent Capital Gloden Gate Disrupt University เราจะร่วมมือกันหลายๆ ภาคส่วน เพื่อทำให้วงการมันแข็งแรง 

- ภาพรวมของ Hubba ในปัจจุบัน และแผนธุรกิจในอนาคต (ระยะสั้นและระยะยาว) 

HUBBA ที่เอกมัยมี 2 location (ซอย 4 มี 2 ที่) cluster office ที่เราบริหารให้ partner เรา (ที่เอกมัย 23) มีนาคมจะเปิด HUBBA-TO กับแสนสิริ ส่วนที่เป็นหุ้นด้วยจะมี pun space ที่เชียงใหม่มี 2 ที่ (ท่าแพ กับนิมมานฯ) ที่เวียงจันทน์มี 1 ที่ชื่อ​ “โต๊ะลาว”​ ในอนาคตจะเพิ่มทั้งในต่างจังหวัดและต่างประเทศ จะค่อยๆ ขยายเพราะ co-working space เป็นธุรกิจที่ใช้ทรัพยากรในการสร้างวัฒนธรรมและบรรยากาศต้องใช้เวลาในการขยาย ธุรกิจของ HUBBA เป็น co-working space แต่บทบาทเป็น ecosystem builder เราก็มีเป้าหมายอยากเห็น startup ไทยประสบความสำเร็จ เป็นฮีโร่ เป็นแรงบันดาลใจให้น้องๆ คนรุ่นใหม่เห็นว่าเราทำได้ คนไทยอาจจะขาดความมั่นใน ขาดกำลังใจ อาจจะมองว่า startup ไทยไม่เก่งเท่าสิงคโปร์ มาเลเซีย ซึ่งไม่จริง คนเราเก่งแต่เราไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร กว่าคนที่เก่งและประสบความสำเร็จเขาต้องใช้เวลาล้มลุกคลุกคลานมาหลายปี กว่าจะตั้งตัวและมาประสบความสำเร็จก็ปีที่ 6 อายุ 30 กว่า แทนที่เราจะให้คนอายุ 30 ใช้พลังงานในการสร้าง startup ตัวเดียว เราจะทำอย่างไรให้เขาสามารถทำได้ตั้งแต่อายุ 22 ภายในปี 2020 เป้าที่เรามีร่วมกันในวงการคืออยากเห็น startup ไทยที่มีมูลค่าธุรกิจขนาด 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ คนไทยจะสร้าง startup ที่คนทั้ง asia และทั่วโลกอยากใช้ 

เป้าการขยายของ HUBBA ปี 2016 อยากมี 10 ที่ แต่ในวงการ co-working space ก็น่าจะเกิน 60 location ขนาดของ co-working space ที่เราอยากได้ คือ เกิน 400 ตารางเมตร เพราะ community เร่ิมใหญ่ขึ้น คนมากขึ้น เราต้องการพื้นที่ที่มี function ที่หลากหลายขึ้น พอ co-working space เยอะ คนก็เร่ิมเข้าใจและรู้จัก มี choice ให้เลือกเยอะ เราจึงต้องพัฒนาสถานที่ตลอดเวลา มีสิ่งอำนวยความสะดวกใหม่ๆ ตลอดเวลา เอกลักษณ์​ของ HUBBA คือ facilities เราอาจจะไม่ได้ใหม่สุด ไม่ได้ใหญ่สุด ไม่ได้หรูที่สุด แต่เราเน้น content เป็นหลัก ถ้าให้เลือก co-working space จาก 60 ที่ ที่ active ที่สุดในเรื่องของ startup ที่มีกิจกรรมเยอะที่สุด ที่มีความเป็น community มากที่สุด และความเข้าใจ มีประสบการณ์และมี connection เกี่ยวกับ startup มากที่สุด เราคิดว่า HUBBA แทบจะเป็นที่เดียว เป็น top of mind ในเรื่องนี้ 

การลงทุน ของ HUBBA มีหลายรูปแบบ ได้แก่ ลงทุนเองทั้งหมด ร่วมลงทุน หรือบริหาร co-working space ให้ partner ปัจจุบัน HUBBA มี active member ทุกสาขา (ไม่รวม HUBBA-TO) มีคนมาใช้บริการเกิน 200 คนต่อวัน จนถึงปัจจุบันคนที่ได้รับ impact จาก HUBBA เกิน 10,000 คนแล้ว ประมาณ 80% ของคนที่เข้ามาใช้บริการ HUBBA บอกว่า HUBBA มี impact ต่อ professional and personal development ของเขา เขามาแล้วเขาได้เรียนรู้และพัฒนาตัวเอง และได้ connection 

การระดมทุนใน HUBBA 

การระดมทุนใน HUBBA ผ่านมาเพียงรอบเดียวคือ pre-series A คือ 350,0000 USD หรือประมาณ​10 ล้านบาท ทั้งจากกองทุนและนักลงทุนรายบุคคล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพี่ๆ ในวงการ startup ที่เห็นว่าเราทำงานร่วมกันมา 3 ปี สิ่งที่เราทำมันสามารถ scale ได้ เรามีเป้าหมาย.... ในปี 2016 เราตั้งเป้าจะระดมทุน series A ที่ 1-2 million USD ช่วงกลางปี จะนำไปใช้เพื่อขยายสาขา และมีเทคโลยีสำหรับสถานที่ที่ทำงานที่เราทำ ตัว application แรก ที่เรา soft launch ไปแล้วชื่อ find my node เป็นเหมือน airbnb สำหรับออฟฟิศ คือว่าเราเล็งเห็นปัญหานึงของสมาชิกเรา คือ พอทีมของสมาชิกเราเริ่มใหญ่เขาเริ่มมีความจำเป็นต้องมีออฟฟิศของตัวเอง อาทิ 50 คนหากต้องมานั่งทำงานที่ HUBBA มันไม่ใช่บรรยากาศของ co-working space แต่เขาอยากได้ออฟฟิศ เขาอยากได้อออฟฟิศแบบ HUBBA เขาอยากได้ เราเลยเห็นความต้องการของตลาด เราเลยทำ find my node เราสร้างแพลตฟอร์มที่ต้องการออฟฟิศที่มีเอกลักษณ์ มีคุณลักษณะ คือ อยู่ในเมืองใกล้รถไฟฟ้า กับคนที่มี supply คนที่มีสถานที่บ้านเก๋ๆ ที่ไม่ได้อยู่ ไม่ได้อยากทำเป็น airbnb หรือ community mall ที่ร้างอยู่ หรือ office facility ที่ยังมีคนเช่าไม่เต็ม เราจะเข้าไปช่วยให้พื้นที่ของเขาที่ไม่ได้ถูกใช้สอยให้ถูกใช้สอย หวังว่าโปรดักส์นี้ที่ช่วยให้สมาชิกเรามีพื้นที่การทำงานที่ดี และเป็น growth ของ HUBBA ซึ่งเราเริ่มเปิดตัวไปในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ในสต็อกของเรามีประมาณ​10 ที่ และเราพยายามจะมี 100 locations ในต้นปี 2559 เราเน้นพื้นที่ที่มีเอกลักษณ์ และคุณภาพ ให้ทุกคนที่มาใช้งานแล้วประทับใจ กำลังหาที่เก๋ๆ เข้ามาอยู่

findmynode.com จองเป็นรายวัน รายเดือน รายปี ได้ จองและจ่ายผ่านออนไลน์ได้เลย เราส่ง key card access ผ่านไปยังมือถือได้เลย เป็นการลดการจัดการไม่ต้องมีพนักงานไปประจำ ในอนาคตเราสามารถบริหารจัดการสถานที่นั่นแบบ remote ได้ เช่น เขาใช้เสร็จเราสามารถดูผ่านกล้องวงจรปิดได้ไหม ดูเรื่องระบบรักษาความปลอดภัยผ่านกล้อง ปรับอุณหภูมิ ปรับไฟ ผ่านกล้อง เป็นต้น เป็นนวัตกรรมที่เราใช้ IOT [Internet of Thing] เข้ามาบริหาร เป็น smart office จริงๆ แต่ที่เป็นเอกลักษณ์ คือ ไม่ได้จำกัดแค่การเป็น co-working space แต่เราสามารถสร้าง asset ปรับเปลี่ยนให้เป็นสถานที่ทำงานในรูปแบบต่างๆ อาทิ ห้องประชุม meeting space, conference space เราก็จะมีพื้นที่หลากหลาย function ให้เลือกใช้ เป็นการขยายจากเดิมที่มี 3 รูปแบบ คือ ลงทุนเอง ร่วมลงทุน และบริหารให้ เป็นการสร้างแพลตฟอร์มกลาง 

เงินจะนำมาสร้างคนสร้างทีม เพื่อเตรียมขยายต่างประเทศ ทีมงานต้องเก่งเรื่อง support และ facilitate startup ตอนนี้มีเกือบ 30 คน เราต้องทำให้เขาเก่งพอที่จะไปบริหารในหลายๆ location ทั้งในต่างจังหวัดและต่างประเทศ ทุกสัปดาห์มีคนติดต่อเข้ามาเกือบ 5 รายว่าอยากให้ไปทำ co-working space ที่นั่นที่นี่ เรารับได้แค่ 1% ของโครงการที่เสนอมา ซึ่งหากเราได้รับการลงทุน เราจะมีกำลังในการทำมากขึ้น 

HUBBA เป็น startup ที่สนับสนุน startup และพี่ๆ startup ก็มา support HUBBA เพราะอยากให้ HUBBA ช่วยสร้างและดูแล startup ที่เกิดขึ้นใน community เป็นปรัชญาของคนในวงการ startup คือ “give before you get” ถ้าในวงการมีรุ่นพี่ที่ประสบความสำเร็จ เข้ามาช่วยหนุนน้องๆ รุ่นใหม่ ให้เกิดเยอะๆ จะทำให้วงการคึกคัก เราอยากให้วงการ startup มีวัฒนธรรมเหมือน silicon valley ซึ่งการสนับสนุนเด็กรุ่นใหม่ โดยคนรุ่นเก่าที่ประสบความสำเร็จแล้ว มันดีต่อวงการโดยรวม อยากเห็นภาพความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน อยากสร้างวัฒนธรรมของการเป็นผู้ประกอบการในไทยแบบนี้ 

- นอกจากการทำ co-working space แล้วคุณเอมได้มีบทบาทและส่วนสนับสนุน startups ไทยอย่างไรอีกบ้าง 

บทบาทส่วนตัว คือ ไปเป็น speakers ทั้งสอนทั้งแชร์ประสบการณ์ และเข้าไปช่วยงานสมาคมฯ อยากทำให้ปีหน้าเป็นปีของ startup ปีนี้เราเริ่มเห็นธนาคารใหญ่ๆ กระโดดเข้ามาเล่น เห็น telco แล้ว หวังว่าภาคราชการที่กำลังคิดเรื่อง DE [digital economy] หวังว่าปี 2559 นี้ ด้วย input และ insight ที่เรามีเกี่ยวกับวงการ startup เราจะสามารถ recommendation ที่ชัดได้ว่า startup ต้องการอะไร แล้วใน region นี้เกิดอะไรขึ้นบ้าง แล้วทำไมรัฐบาลควรจะต้องเข้ามาให้การสนับสนุน เรากำลังดำเนินการทั้งผ่านสมาคมฯ ผ่าน techsauce partner ต่างๆ ในการทำให้แผน DE มาสนับสนุน startup จริงๆ 

หากรัฐเข้ามาปลดล็อกในหลายเรื่อง อาทิ เงิน work permit visa incentive ต่างๆ มันจะทำให้ startup วิ่งเร็วขึ้น ทำให้วงการโตได้เร็วขึ้น ในขณะเดียวกันต้องทำให้ภาครัฐเห็นว่าในไทยมี startup เจ๋งๆ ที่ผ่านมาเราเป็นตัวเชื่อมระหว่าง startup-corporate-vc มาโดยตลอด เราอยากดึงภาครัฐเข้ามาว่าภาครัฐสามารถให้การสนับสนุนอะไรได้ อย่างน้อยๆ อยากให้ภาครัฐ อย่าเพิ่มกฏเกณฑ์มาตรการที่ทำให้ startup โตช้าลง 

เราไม่ได้มองว่า startup ต่างชาติเป็นคู่แข่ง แต่เราสามารถเรียนรู้จากเขาได้ เขาได้ขยายธุรกิจ เราได้เรียนรู้  ตัวอย่าง rocket internet มาในไทยที่ทำ lazada เขาจ้างคนไทยมากมาย สอนคนในงาน startup e-commerce สักวันนึงคนเหล่านั้นมีประสบการณ์มีความรู้มีเงินเดือน ออกมาทำ startup เกี่ยวกับ e-commerce เต็มไปหมดเลย ก็ทำให้วงการในไทยมี e-commerce startup มากขึ้น

ตอนนี้ผมไม่ได้เป็นนักลงทุน อาจมีลงทุนส่วนตัวบ้าง แต่ไม่เยอะ มีคนเข้ามาติดต่ออยากให้ลงทุนอยู่เรื่อยๆ แต่คงมีโอกาสในอนาคต แต่ตอนนี้ขอโฟกัสในเรื่องของ HUBBA เราเป็นได้แต่ไม่ได้รีบร้อนอะไร โดยส่วนของตัวเองและของ HUBBA ยังไม่ได้เล่นบทบาทเป็น VC 

- ultimate goal ของ HUBBA

ultimate goal ของ HUBBA คือ อยากจะเป็นบริษัท ผู้ที่สร้าง ecosystem ที่จะทำให้วงการ tech startup ของไทยเป็นหนึ่งใน top ecosystem ของ SEA ไม่ว่าเรื่องจำนวน co-working space จำนวน startup ที่เกิดขึ้นใหม่ จำนวน startup ที่ได้รับการระดมทุน ขนาดของการระดมทุน และ startup ของไทยที่สามารถขยายไปในต่างประเทศ โดยที่ HUBBA จะเป็นพี่เลี้ยงในช่วงต้น มีส่วนร่วมในการสร้าง startup ตั้งแต่เริ่มต้นจนไปถึงสามารถระดมทุนและขยายธุรกิจได้ เราจะมีธุรกิจที่จะอยู่ในทุกช่วงของเส้นทางของ startup ไม่ว่าจะสอน co-working space และสุดท้าย HUBBA เองก็อยากเป็น startup ที่มี exit หรือ เข้าระดมทุนในตลาดฯ ได้ ในอนาคตเรายังไม่รู้ แต่เราคิดว่า ultimate goal ของ HUBBA คือ มอง success case ใน silicon valley อย่าง WeWork ที่ระดมทุนได้มากกว่า 750M USD และมีมูลค่าบริษัท 10 billion dollars และขยายไปหลายประเทศ กำลังจะเปิดในฮ่องกง เราเห็นแล้วว่าใน business model ของ co-working space ก็ขยายได้ และ HUBBA เองก็มีศักยภาพที่จะเป็น unicorn ได้ 

- มุมมองต่อพัฒนา startups ของไทย และมุมมองต่อวงการ startup โดยรวม 

เห็นความเป็นเอกลักษณ์ของวงการ startup ไทย เร่ิมจากเล็กไปใหญ่ ทำให้มีความร่วมมือที่ดีมาก ร่วมมือกันทำงานเพื่อสร้างโอกาส จำนวน/ปริมาณของคนที่เก่งมีมาก แต่เรายังไม่สามารถสนับสนุนเขาได้ดีพอ ให้เขาเติบโตได้เร็ว เขาอาจจะติดปัญหาเรื่องเงินทุน โอกาสการเข้าตลาด แต่ตอนนี้ปัญหาใหม่ๆ คือ เรื่องบุคลากร เรามองว่า การสร้าง community แข็งแรงในเชิงรากหญ้า แต่ยังขาดแรงสนับสนุนจากภาครัฐ แรงสนับสนุนหลักๆ มาจากภาคเอกชน ทำให้เติบโตได้ดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่เร็วเท่าที่ควร แต่คาดว่าปี 2559 นี้จะเติบโตอีก

การทำธุรกิจที่มีมี innovation ไม่มีเทคโนโลยี ไม่ differentiate มันแทบจะเป็นธุรกิจที่ไม่มีอนาคต แต่การใช้ technology innovation ต้นทุนประหยัด แต่เติบโตได้ทั่วโลก ด้วยต้นทุนที่ถูกมาก ตรงนี้คือโอกาส โอกาสที่คนรุ่นนี้เข้าถึงได้ง่ายที่สุด และเป็นโอกาสที่ผู้ใหญ่ ต้องลงมาคลุกคลีกับคนรุ่นใหม่ เพราะเขาอาจจะตามเทคโนโลยีไม่ทัน เขาอาจจะไม่เข้าใจเท่าคนรุ่นใหม่ ซึ่งตรงนี้ unique ไม่ใช่ว่าประสบการณ์มากว่า รวยกว่า ชื่อเสียงดังกว่า นามสกุลใหญ่กว่า คุณจะประสบความสำเร็จมากกว่า ตรงนี้เป็นโอกาสของคนรุ่นใหม่ที่เข้ามี passion มีความเก่ง มีความตั้งใจ มุ่งมั่นที่จะทำให้สำเร็จ สามารถที่จะประสบความสำเร็จได้ เลยคิดว่าจะมีแต่คนอยากจะมาทำ startup มากขึ้นเรื่อยๆ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น